วันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2557

วัดร่องขุ่น เชียงราย

น้องการ์ตูนพาใหว้ พระ วัดร่องขุ่น เชียงราย


คำขวัญประจำจังหวัดเชียงราย
  เหนือสุดในสยาม ชายแดนสามแผ่นดิน ถิ่นวัฒนธรรมล้านนา ล้ำค่าพระธาตุดอยตุง





วัดร่องขุ่น ตั้งอยู่ที่ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ถือเป็นศาสนสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงราย เป็นผลงานการออกแบบและก่อสร้างโดย อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ จิตรกรไทยที่มีผลงานจิตรกรรมไทยหลากหลาย จนได้รับการยกย่องขึ้นเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ในปี พ.ศ. 2554 ผู้ซึ่งอุทิศตนสร้างวัดวัดร่องขุ่นอันยิ่งใหญ่นี้ขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างสรรค์ให้วัดแห่งนี้งดงามดังสวรรค์ที่มีอยู่จริง อีกทั้งมนุษย์สามารถสัมผัสได้บนพื้นพิภพ คล้ายเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนให้คนเราใฝ่ปฏิบัติธรรม และประกอบแต่กรรมดีในการดำเนินชีวิต 



เมื่อครั้งกลับมาเยือนบ้านเกิด คือ หมู่บ้านร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย อาจารย์เฉลิมชัย ได้เห็นว่า "วัดร่องขุ่น" ที่คนรุ่นพ่อร่วมกันสร้างนั้น มีสภาพทรุดโทรมเป็นที่สุด อาจารย์เฉลิมชัย จึงเกิดแรงดลใจว่าอยากสร้างวัดร่องขุ่นด้วยศิลปะสมัยใหม่ เหมาะกับประเทศไทย ภายใต้ร่มโพธิสมภารของในหลวง รัชกาลที่ 9 รวมถึงอยากจะสร้างงานศิลปะให้ยิ่งใหญ่ฝากไว้ให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน ณ บ้านเกิด อาจารย์จึงลงมือก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 โดยอุทิศทั้งชีวิตให้กับการสร้างงานชิ้นสุดท้ายของชีวิตชิ้นนี้ ด้วยเงินที่เก็บสะสมมาจากการจำหน่ายผลงานศิลปะในเวลากว่า 20 ปี 
นอกจากนี้ อาจารย์เฉลิมชัย ยังเผยความในใจถึงวัดร่องขุ่นด้วยว่า ผมหวังที่จะสร้างงานพุทธศิลป์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผมให้ปรากฏเป็นงาน ศิลปะที่ยิ่งใหญ่ชิ้นหนึ่งของโลกมนุษย์นี้ให้ได้ เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ของประเทศชาติของผมไปสู่มวลมนุษยชาติทั้งโลก หากเมื่อผมตาย คณะลูกศิษย์ที่ผมสอนไว้จะสานต่อจินตนาการของผมจนแล้วเสร็จทั้งหมด ผมได้เตรียมการบริหารจัดการหลังความตายไว้พร้อมแล้ว ผมสร้างงานพุทธศิลป์ด้วยความศรัทธาจริตไม่ได้มุ่งหวังสิ่งใด ๆ ตอบแทน ไม่ต้องการและไม่ชอบการทำบุญเอาหน้า วัดนี้ไม่เคยเรี่ยไรเงินด้วยกฐินผ้าป่า วัดนี้ไม่รีบร้อนสร้างเพื่อฉลองในโอกาสใด ๆ ทั้งสิ้น ผมคิดเพียงอย่างเดียว ต้องดีที่สุดสวยที่สุด สร้างจนหมดภูมิปัญญาทางโลกและทางธรรมของผม...ความตายเป็นสิ่งเดียวเท่านั้น ที่จะหยุดเสรีภาพแห่งจินตนาการของผมได้ 

ห้องน้ำวัดสวยมาก



 สิ่งที่โดดเด่นเมื่อมาเยือนวัดร่องขุ่น ก็คือ พระอุโบสถ ที่มีความโดดเด่นด้วยเอกลักษณ์ทางศิลปะ และสถาปัตยกรรมที่แสนวิจิตรอลังการ ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงช่อฟ้า ใบระกา และรายละเอียดซึ่งแตกต่างไปจากวัดแห่งอื่น โดยตัวพระอุโบสถที่เน้นสีขาวบริสุทธิ์นั้น สื่อแทนพระบริสุทธิคุณ ขณะที่กระจกขาววาววับจับประกายระยิบระยับ หมายถึงพระปัญญาธิคุณของพระพุทธองค์ที่โชติจรัสชัชวาลไปทั่วทั้งโลกมนุษย์และจักรวาล 


มาใหว้พระกันค่ะ



 ด้าน สะพาน หมายถึง การเดินข้ามวัฏสงสารมุ่งสู่พุทธภูมิ ก่อนขึ้นสะพานครึ่งวงกลมเล็ก หมายถึง โลกมนุษย์ วงใหญ่ที่มีเขี้ยวเป็นปากของพญามารหรือพระราหู หมายถึง กิเลสในใจแทนขุมนรกคือทุกข์ ผู้ใดจะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในพระพุทธภูมิต้องตั้งจิตปลดปล่อยกิเลสตัณหาของตนเองทิ้งลงไปในปากพญามาร เพื่อเป็นการชำระจิตเราให้ผ่องใสถึงจะเดินผ่านขึ้นไป ส่วนบนของหลังคาโบสถ์ได้นำหลักธรรมอันสำคัญยิ่งของการปฏิบัติจิต 3 ข้อ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นำไปสู่ความว่าง (ความหลุดพ้น)







บ่อโยนเหรียญอธิฐาน

ที่อธิฐานแล้วโยนเศษเหรียญลงบัวในน้ำค่ะ



น้องการ์ตูนขอเข้าชมห้องน้ำสวยๆๆหน่อยค่ะ


ขณะที่ ช่อฟ้าเอก หมายถึง ศีล ประกอบด้วยสัตว์ 4 ชนิด ผสมกันแทน ดิน น้ำ ลม ไฟ โดย ช้าง หมายถึง ดิน, นาค หมายถึง น้ำ, ปีกหงส์ หมายถึง ลม และหน้าอก หมายถึง ไฟ ขึ้นไปปกปักรักษาพระศาสนา บนหลังช่อฟ้าเอกแทนด้วยพระธาตุ หมายถึง ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 ข้อ และ 84,4000 พระธรรมขันธ์

          ช่อฟ้าชั้นที่ 2 (บน) หมายถึง สมาธิ แทนด้วยสัตว์ 2 ชิด คือ พญานาคกับหงส์ เขี้ยวพญานาค หมายถึง ความชั่วในตัวมนุษย์ หงส์ หมายถึง ความดีงาม ศีลเป็นตัวฆ่าความชั่ว (กิเลส) เมื่อใจเราชนะกิเลสได้ก็เกิดสมาธิ มีสติกำหนดรู้เกิดปัญญา และช่อฟ้าชั้นที่ 3 (สูงสุด) หมายถึง ปัญญา แทนด้วยหงส์ปากครุฑ หมอบราบนิ่งสงบไม่ปรารถนาใด ๆ มุ่งสู่การดับสิ้นซึ่งอาสวะกิเลสภายใน ด้านหลังหางช่อฟ้าชั้นที่ 3 มีลวดลาย 7 ชิ้น หมายถึง โพชฌงค์ 7 ลาย 8 ชิ้นรองรับฉัตร หมายถึง มรรค 8 ฉัตร หมายถึง พระนิพพาน รวมถึงลวดลายบนเชิงชายด้านข้างของหลังคาชั้นบนสุดแทนด้วยสังโยชน์ 10 เสา 4 มุม ด้านข้างโบสถ์ คือ ตุง (ธง) กระด้าง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธเจ้าตามคติล้านนา
นอกจากนี้ ยังมีจิตรกรรมฝาผนังที่แสนอลังการฝีมือของ อาจารย์เฉลิมชัย ซึ่งไม่น่าพลาดชมอยู่ภายในโบสถ์อีกด้วย โดยภายในพระอุโบสถ ประกอบด้วย ภาพเขียนสีทองตามผนังทั้ง 4 ด้าน เพดานและพื้นเป็นภาพเขียนที่แสดงถึงการหลุดพ้นจากกิเลสมาร มุ่งเข้าสู่โลกุตรธรรม ส่วนหลังคาพระอุโบสถได้นำหลักการของการปฏิบัติจิต 3 ข้อ คือ ศีล สมาธิ และปัญญา มาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน 


 โดยวัดกำลังสร้างต่อเติมไปเรื่อย ๆ ให้ครบทั้ง 9 หลังตามเป้าหมาย ให้เป็นอาคารที่มีรูปทรงแตกต่างกัน เพื่อเป็นเมืองสวรรค์อันยิ่งใหญ่ให้คนทั้งโลกยอมรับและชื่นชมในผลงานการสร้างพุทธศิลป์แห่งนี้ ถึงแม้ว่าการก่อสร้างวัดนั้นยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่ความงามที่ปรากฏได้สร้างความสุขทางใจให้ดื่มด่ำไปกับเรื่องราวในพุทธศาสนา กับรายละเอียดตกแต่งที่พิถีพิถันทั่วทุกมุม ซึ่งไม่เพียงแต่ความวิจิตรที่สัมผัสได้เพียงภายนอกเท่านั้น แต่ยังสื่อถึงหลักธรรมในศาสนาที่ลึกซึ้งให้ผู้ที่มาเยือนได้กลับไปขบคิดกันอีกด้วย 

วัดร่องขุ่น เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.30 – 18.00 น. ห้องแสดงภาพเปิดให้เข้าชมวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-17.30 น. วันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ เวลา 08.00-18.00 น. ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วัดร่องขุ่น โทรศัพท์ 0 5367 3579, ททท. สำนักงานเชียงราย โทรศัพท์ 0 5371 7433 และศูนย์บริหารจัดการการท่องเที่ยว จังหวัดเชียงราย โทรศัพท์ 0 5371 5690

ถนนสายเชียงราย-กรุงเทพฯ ถ้ามาจากกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ วัดร่องขุ่นจะอยู่ก่อนถึงตัวเมืองเชียงราย 13 กิโลเมตร ตรงหลักกิโลเมตรที่ 816 ถนนพลหลโยธิน (หมายเลข 1 / A2) เลี้ยวเข้าไปประมาณ 100 เมตร จะมีป้ายบอกเป็นระยะ ๆ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น